วันศุกร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2551

อย. สั่งทำลายนมตรามะลิ ปนเปื้อนเมลามีน


อย. สั่งทำลายนมปนเปื้อนเมลามีน
มูลนิธิฯชี้ช่องฟ้อง

อย. สั่งบริษัท อุตสาหกรรมนมไทย ทำลาย “นมข้นจืดตรามะลิ” ปนเปื้อนเมลามีนทั้งหมด พร้อมอายัด “ครีมพร่องมันเนย” อีกกว่า 2 แสนกระป๋องตรวจ หากไม่พบเมลามีนไฟเขียวจำหน่ายต่อ ด้านบริษัทแจงวัตถุดิบผลิตนมเจ้าปัญหานำเข้านิวซีแลนด์ ส่งนมผง 16 กระสอบตรวจที่กรมวิทย์ฯ ด้าน “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” จี้ บริษัทนมปนเปื้อน “เมลามีน” วางมาตรการช่วยผู้บริโภคหากป่วยเป็นนิ่วหรือไตจากนมและผลิตภัณฑ์ปนเปื้อนเมลามีน พร้อมชี้ช่องฟ้องตาม พ.ร.บ.พิจารณาคดีผู้บริโภค

เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นพ.นรังสันต์ พีรกิจ รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า หลังผลการตรวจวิเคราะห์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุว่า นมข้นแปลงไขมันไม่หวาน สูตรน้ำมันปาล์ม ตรามะลิ ชนิดกระป๋อง เลขสารบบ อย. 14-1-02323-1-0037 น้ำหนักสุทธิ 385 กรัม วันหมดอายุ 160109 ผลิตโดย บริษัทอุตสาห กรรมนมไทย จำกัด มีการปนเปื้อนเมลามีนถึง 92.82 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ตนได้เดินทางไปยังโรงงานดังกล่าวและได้มีการอายัดวัตถุดิบจำนวน 448,675 กิโลกรัม โดยทางบริษัทแจ้งว่าได้มีการใช้วัตถุดิบจากนิวซีแลนด์ผลิตลอตดังกล่าว ไม่ได้ใช้วัตถุดิบนำเข้าจากจีนแต่อย่างใด ซึ่งขณะนี้สินค้าลอตที่ปนเปื้อนทางบริษัทจะต้องเรียกคืนจากท้องตลาดเพื่อนำมาทำลายทั้งหมด ส่วนในลอตอื่น ๆ ได้มีการเก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์แล้ว หากปลอดภัยก็จะให้จำหน่ายได้ แต่หากมีการปนเปื้อนจะต้องมีการทำลายทิ้งทั้งหมด

นพ.นรังสันต์ กล่าวต่อว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการอายัด ได้แก่ นมข้นแปลงไขมันไม่หวานที่มีปัญหา จำนวน 154,164 กระป๋อง ครีมพร่องไขมัน 255,968 กระป๋อง นอกจากนมข้นแปลงไขมันไม่หวานที่ตรวจพบเมลามีนเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมาก่อนที่จะมีประกาศ สธ. ดังนั้นฝ่ายกฎหมายคงจะหารือว่าจะสามารถดำเนินการเอาผิด กับทางบริษัทได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม อย.ได้เฝ้าระวังผลิตภัณฑ์นมทุกชนิดในท้องตลาดตั้งแต่มีปัญหา โดยในส่วนนมผงสำหรับเด็กยืนยันว่า มีความปลอดภัย ส่วนผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จะทยอยแจ้งผลให้ทราบต่อไป โดยจะแจ้งกรณีที่เกิดการปนเปื้อนเท่านั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงสายวันเดียวกัน ทางบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ ได้ให้เจ้าหน้าที่ของบริษัทนำวัตถุดิบนมผง 16 กระสอบ ส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบโดย ถุงบรรจุนมผงระบุว่าผลิตจากออสเตรเลีย นิวซี แลนด์ และอินเดีย ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ อย. ได้เก็บตัวอย่างคุกกี้ส่งตรวจเช่นกัน

ด้าน ดร.จิราภรณ์ ลิ้มปนานนท์ ประธาน ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าจะต้องทำลายวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากนมที่มีการปนเปื้อนเมลามีนเกินค่ามาตรฐานทั้งหมดเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และต้องสืบค้นว่า วัตถุดิบนมดังกล่าวมาจากแหล่งใดบ้าง เชื่อว่า อย.กำลังดำเนินการอย่างเต็มที่แล้ว แต่ทางบริษัทเองต้องรับผิดชอบโดยเปิดเผยข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงทั้งหมดให้กับ อย. ด้วย พร้อมกันนี้ต้องประกาศชัดเจนว่าจะรับผิดชอบผู้บริโภคอย่างไร หากกินผลิตภัณฑ์เหล่านี้และส่งผลต่อสุขภาพในภายหลัง

ดร.จิราภรณ์ กล่าวต่อว่า หลังจากนี้ทุกบริษัทที่นำวัตถุดิบนมเข้ามาในประเทศควรมีการตรวจหาสารเมลามีนก่อนที่จะนำมาผลิตเพื่อจำหน่ายให้ผู้บริโภค นอกจากนี้ควรมีการขยาย กฎกระทรวงที่กำหนดค่ามาตรฐานการปนเปื้อนในอาหารไม่เกิน 2.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ให้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เช่นเดียวกับในต่างประเทศซึ่งจะทำให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัยมาก ยิ่งขึ้นนอกจากนี้ต้องให้ความรู้กับประชาชนว่า สารเมลามีนไม่ได้มีเฉพาะผลิตภัณฑ์นม แต่น่าจะมีในทุกผลิตภัณฑ์ที่มีโปรตีน ไม่ว่าจะเป็นอาหารสัตว์ น้ำปลา ซีอิ๊ว

สำหรับประชาชนที่มีปัญหาด้านสุขภาพ หากคิดว่าเป็นโรคไต ปัสสาวะขุ่น และสงสัยว่าอาจเกิดจากการกินผลิตภัณฑ์ปนเปื้อนสารเมลามีน สามารถมาร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ โดยทางมูลนิธิฯ จะรวบรวมข้อมูลและสืบหา สาเหตุเพื่อเป็นการช่วยสืบค้นข้อมูลอีกทางหนึ่ง เพราะอาจมีผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ปนเปื้อนเมลามีนได้ ไม่เฉพาะแต่ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากนม และสามารถฟ้องร้องต่อศาลได้ ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งผู้ฟ้องจะไม่เสียค่าใช้จ่ายในการฟ้องร้องและพิสูจน์ข้อเท็จจริง.



ข้อมูลจาก

ไม่มีความคิดเห็น: