วันพฤหัสบดีที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2551

แบงก์พัน-ห้าร้อย ปลอม ระบาดหนัก


เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. นายนพพร ประโมจนีย์ ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย สายออกบัตรธนาคาร เปิดเผยว่า ใกล้ช่วงเทศกาลปีใหม่ ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอย จึงขอเตือนให้ระมัดระวังธนบัตรปลอมที่คนร้ายจะสอดแทรกปะปนกับธนบัตรจริงในการซื้อสินค้าและบริการ เนื่องจากมีการจับและพบธนบัตรปลอมเพิ่มขึ้น โดยในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ย. 11 เดือนแรกของปี 2551 พบธนบัตรปลอมทั้งสิ้น 18,895 ฉบับ เทียบกับทั้งปีของปี 2550 มีเพียง 10,819 ฉบับ สูงขึ้นถึง 8,076 ฉบับหรือ 74.65%หากคิดเป็นมูลค่า 11 เดือนแรกของปีนี้ พบว่ามียอดธนบัตรปลอม 12.3 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีแค่ 6.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.5 ล้านบาท หรือ 80.8% และธนบัตรปลอมที่พบทั้งหมดเป็นราคา 1000 บาท มากที่สุด 11,158 ฉบับ ต้องยอมรับว่าเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี จำนวนมิจฉาชีพที่นำธนบัตรปลอมมาใช้ก็มีมากขึ้นกว่าในปี 2551 ดังนั้น ปีหน้าประชาชนควรจะระมัดระวังการรับจ่ายธนบัตร โดยหาความรู้และตรวจสอบธนบัตรให้มากขึ้น

ธนาคารแห่งประเทศไทยพยายามให้ความรู้กับประชาชนเพื่อให้ทราบวิธีตรวจธนบัตรปลอม โดยเฉพาะนักเรียน ครู และแคชเชียร์ตามร้านค้า สามารถดูได้ที่เว็บไซต์ http://www.bot.or.th/ หรือสอบถามได้ที่โทรศัพท์ 0-2356-8666 สำหรับวิธีการตรวจสอบเบื้องต้นนั้น ธนบัตรจริงจะต้องมีลายเส้นนูนที่คำว่า “รัฐบาลไทย” เมื่อสัมผัสปลายนิ้วจะรู้สึกสะดุดกับหมึกพิมพ์ และเมื่อยกส่องกับแสงสว่างบริเวณพื้นที่ว่างด้านขวาธนบัตรจะเห็นลายน้ำพระบรมสาทิสลักษณ์อยู่ในกระดาษอย่างชัดเจน และประดับด้วยรูปลายไทยขนาดเล็กที่มีความโปร่งแสงเป็นพิเศษ นอกจากนั้น ธนบัตรชนิดราคา 100 บาท 500 บาท และ 1000 บาท จะมีแถบฟอยล์สีเงินแนบเป็นเนื้อเดียวกับกระดาษตามแนวตั้ง เห็นชนิดราคา และสีเป็นหลายมิติเมื่อพลิกเอียง

ด้านการสำรองธนบัตรช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งมีวันหยุดติดต่อกัน 5 วันนั้น นายนพพรบอกว่า สำรองเงินสดและการเบิกจ่ายเงินสดให้กับธนาคารพาณิชย์ 180,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน 50,000 ล้านบาท และได้เตรียมธนบัตรสำรองชนิดราคาต่างๆ เพื่อรองรับความต้องการเบิกจ่ายเงินที่มากกว่าปกติไว้อีก 330,000 ล้านบาท ทำให้เชื่อมั่นว่าประชาชนจะสามารถกดเอทีเอ็มได้โดยไม่มีปัญหาเงินหมดตู้อย่างแน่นอน

ขณะเดียวกัน มีการทลายแหล่งผลิตแบงก์ปลอมโดยเมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 17 ธ.ค. พล.ต.ต.อุดม จำปาจันทร์ ผบก.ภ.จ.สกลนคร พ.ต.อ.วันชัย สุริยศรี รอง ผบก. พ.ต.ท. พยุงศักดิ์ นามวรรณ รอง ผกก.หน.กลุ่มงานสืบสวน ภ.จ. สกลนคร พ.ต.ท.วิเชียร ไชยศร สว.กลุ่มงานสืบสวนฯ พ.ต.ท.สมนึก มิควาฬ รอง ผกก.ป.สภ.เมืองสกลนคร ร่วมกับ พ.ต.ต.ไมตรี เทพล สว.สป.สภ.เมืองสกลนคร ทำหน้าที่ หน.สภ.ย่อยท่าแร่ ตรวจค้นบ้านชั้นเดียว ไม่มีเลขที่ ตั้งอยู่หมู่ 8 ต.ท่าแร่ อ.เมืองสกลนคร ทั้งนี้ เนื่องจากสงสัยว่าเป็นแหล่งผลิตธนบัตรปลอมพบนายวัชรินทร์ ประศรี อายุ 68 ปี อยู่บ้านเลขที่ 254 หมู่ 4 ต.นาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม คร่ำเคร่งทำธนบัตรปลอมอยู่ในบ้านเพียงลำพัง เมื่อเห็นเจ้าหน้าที่ ตำรวจถึงกับหน้าถอดสี จากการตรวจค้นพบอุปกรณ์หลายรายการ เช่น เครื่องปรินเตอร์สี 1 เครื่อง สีและบล็อกสกรีน 3 ชุด กระดาษถ่ายเอกสาร 4 รีม กระดาษลายน้ำติดแถบธนบัตร กาวติดกระดาษหลายชนิด

นอกจากนี้ มีธนบัตรไทยปลอมฉบับละ 500 บาท 268 ใบ เป็นเงิน 134,000 บาท ธนบัตรไทยปลอมฉบับละ 1 พันบาท 16 ใบ เป็นเงิน 16,000 บาท ธนบัตรลาว ฉบับละ 50,000 กีบ 635 ใบ เป็นเงิน 31,750,000 กีบ คิดเป็นมูลค่าเงินไทย 114,300 บาท และธนบัตรปลอมรอการสกรีนลายและยังไม่ได้ตัดอีกจำนวนมาก และยังมีธนบัตรจริงฉบับละ 500 บาท 2 ใบ ฉบับละ 1 พันบาท 2 ใบ ธนบัตรลาวฉบับละ 50,000 กีบ 1 ใบ เพื่อใช้เป็นต้นฉบับ

สำหรับธนบัตรปลอมฉบับละ 500 บาท มีเลขธนบัตรหมวด 0 ธ ๗๗๓๑๗๘๑ ด้านล่าง 0 A 7731781 ธนบัตรปลอมฉบับละ 500 บาท หมวด ๑ ค ๗๓๐๙๓๙๖ ด้านล่าง 1 C 7309396 ส่วนธนบัตรปลอมฉบับละ 1000 บาท หมวดและหมายเลข ๕ จ ๙๒๓๙๗๗๐ ด้านล่าง 5 E 9239770 และอีกฉบับเลข ๔ ท ๓๕๗๙๔๙๗ ส่วนด้านล้าง 4 H 3579497 ทั้งหมดลักษณะคล้ายของจริงมาก จึงนำผู้ต้องหาพร้อมของกลางดำเนินคดีที่ สภ.เมืองสกลนคร ข้อหาผลิตและปลอมซึ่งเงินตราหรือธนบัตรปลอม โดยผิดกฎหมาย

พล.ต.ต.อุดม จำปาจันทร์ ผบก.ภ.จ.สกลนคร กล่าวว่า กลุ่มงานสืบสวนตำรวจภูธรภาค 1 จับคนนำธนบัตรปลอมมาใช้ในพื้นที่ จ.นนทบุรี และได้ประสานงานขอข้อมูลการสืบสวนเพื่อหาแหล่งผลิตที่ ต.ท่าแร่ อ.เมืองสกลนคร จึงส่งชุดสืบสวนไปตรวจสอบจนทราบว่าบ้านดังกล่าวมีนายวัชรินทร์เช่าอยู่ตามลำพัง มีพฤติการณ์น่าสงสัย ไม่ ทำงานแต่มีเงินใช้ไม่ขาดมือ จึงขอหมายศาลเข้าค้น

ก่อนหน้านี้นายวัชรินทร์เคยถูกจับเมื่อปี 2543 กระทำผิดในลักษณะเดียวกัน เมื่อพ้นโทษออกมายังมีพฤติกรรมเช่นเดิม ย้ายจาก อ.นาหว้า จ.นครพนม มาเช่าบ้านอยู่คนเดียวที่หมู่ 8 ต.ท่าแร่ อ.เมืองสกลนคร ได้ประมาณ 3 ปี และยังมีหมายจับของศาลจังหวัดนนทบุรีและ จ.นครพนม ผู้จัดการธนาคารหลายแห่งขอทราบข้อมูล โดยเฉพาะหมวดและหมายเลขของธนบัตรและขอภาพธนบัตรปลอมไปติดประกาศไว้ให้ประชาชนทราบ

สอบสวนนายวัชรินทร์ให้การว่า ให้นักศึกษาที่จบด้านคอมพิวเตอร์สอนเรื่องเทคโนโลยีและการใช้เครื่องมือ โดยนักศึกษาที่สอนก็ไม่รู้ว่าจะเอาความรู้มาใช้ในทางที่ผิด วิธีการคือจะนำธนบัตรจริงสแกนเข้าเครื่องปรินเตอร์แล้วพิมพ์ออกมาก่อนจะสกรีนบางส่วนเพิ่มลงไปแล้วติดลายน้ำเป็นอันเสร็จสิ้นขบวนการซึ่งทำคล้ายของจริงมาก

ส่วนอุปกรณ์ต่างๆสารภาพว่าเอามาจาก อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม การผลิตจะขึ้นอยู่กับลูกค้าสั่ง โดยขายในอัตราธนบัตรปลอมราคา 1 แสนบาท ขายราคา 5 พันบาท ทำได้ วันละ 100 ฉบับ ล่าสุดมีลูกค้าซึ่งเป็นพ่อค้าวัวจากฝั่งลาวนำวัวมาขายที่ตลาดนัดวัวควายสั่งไว้เพื่อจะนำไปใช้ที่ลาว แต่ยังทำไม่เสร็จมาโดนจับก่อน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ สอบสวนขยายผลปราบปรามต่อไป

มีรายงานด้วยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองตรัง จับเด็กชายวัย 14 ปี ใช้ธนบัตรปลอมฉบับละ 1 พันบาทซื้อเบียร์ที่ร้านขายของชำที่ ต.ทับเที่ยง อ.เมืองตรัง สอบสวนให้การสารภาพว่า เพื่อนให้มา จึงลองนำไปใช้ แต่เจ้าของร้าน ซึ่งเป็นตำรวจสังเกตเห็นความผิดปกติจึงจับกุมดำเนินคดี

วันอาทิตย์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ประท้วง"ดิ อิโคโนมิสต์"บิดเบือนสถาบันเบื้องสูง

ประท้วง"ดิ อิโคโนมิสต์"บิดเบือนสถาบันเบื้องสูง


กระทรวงต่างประเทศ ทำหนังสือประท้วงอย่างจริงจัง "ดิ อิโคโนมิสต์" ลงบทความเกี่ยวกับสถาบันบิดเบือนความจริง อัดผิดหวังมุมมอง-ไม่คำนึงภูมิหลังไทย ย้ำทรงวางพระองค์เป็นกลาง


นายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ มีหนังสือถึงบรรณาธิการนิตรสาร ดิ อิโคโนมิสต์ ว่า รู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่งต่อมุมมองและทัศนคติของนิตยสารฉบับดังกล่าว ซึ่งลงบทความเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ไทย และตีความเหตุการณ์ต่างๆ ไปตามการคาดเดา โดยไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง รวมถึงไม่คำนึงว่าประเทศไทยมีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ และยังมีความผูกพันระหว่างประชาชน กับสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่หยั่งรากลึกมายาวนาน และไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงวางพระองค์ตามบทบาทที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ทรงวางพระองค์เป็นกลางทางการเมือง ทรงเข้าแทรกแซงทางการเมืองน้อยมาก และถ้ามีการแทรกแซงก็เป็นไปเพื่อป้องกันการเกิดเหตุการณ์นองเลือดในหมู่คนไทย เช่น ในปี 2535 โดยไม่ได้ทรงเข้าข้างกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อย่างไรก็ตาม กลุ่มการเมืองต่างๆ และนักวิเคราะห์ มักดึงพระองค์เข้าไปเกี่ยวข้อง


ก่อนการแทรกแซงโดยทหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ระบบการเมืองไทยวุ่นวายจนเกือบหยุดชะงัก มีเสียงเรียกร้องให้มีรัฐบาลพระราชทาน แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิเสธ พร้อมกับมีพระราชกระแสว่าปัญหาต่างๆ ต้องแก้ไขด้วยกระบวนการประชาธิปไตย

คนไทยมีความรักและเทิดทูนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยสมัครใจ จากการได้เห็นพระองค์ท่านทรงเสียสละ และทรงงานหนักมาตลอดพระชนม์ชีพ เพื่อความสุขของปวงชนชาวไทย

กระนั้นก็ดี มีบุคคลบางกลุ่มพยายามกล่าวอ้างว่า ได้รับการสนับสนุนจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือตีความเข้าข้างตัวเอง ซึ่งอันที่จริง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสเมื่อปี 2548 ว่า พระองค์ไม่ได้อยู่เหนือคำวิพากษ์วิจารณ์ แต่ฐานะของพระองค์ที่อยู่เหนือกฎหมายทำให้พระองค์ไม่สามารถตอบโต้ข้อกล่าวอ้างทางการเมืองหรือข้อกล่าวหาใดๆ แต่ประเทศไทยมีกฎหมายปกป้องพระมหากษัตริย์

นอกจากนี้ ยังมีข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่ง นั่นคือ ประเทศไทยก็เช่นเดียวกับประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ ที่มีการบังคับใช้กฎหมายโดยสมาชิกรัฐสภา ซึ่งตอบสนองความต้องการของประชาชนที่เลือกพวกเขาเข้ามาเป็นตัวแทน

ในการละเลยข้อเท็จจริงและตรรกะง่ายๆ เช่นนี้ บทความในนิตยสาร ดิ อิโคโนมิสต์ ถือเป็นการกล่าวหาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างผิดๆ และสร้างความโกรธเคืองในหมู่ชาวไทย ดังนั้นจึงต้องมีการประท้วงอย่างจริงจังที่สุด